ในสังคมปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะพบเจอสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้จำนวนมากจึงมีความจำเป็นต้องจัดสภาพการทำงานให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานทุกคนโดยการจัดสภาพการทำงานให้เกิดความปลอดภัย
นั้นต้องมีบุคคลหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งบุคคลหรือหน่วยงานดังกว่าวมีอยู่หลายส่วนด้วยกันวันนี้เราจะมาดูในส่วนของผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติงานมากที่สุดนั่นก็คือหัวหน้างานนั่นเอง
การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน หรือเรียกสั้นๆ ว่า จป หัวหน้างาน ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 โดยกำหนดไว้ว่า สถานประกอบกิจการตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยภายในสถานประกอบกิจการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน บุคคลนี้จะต้องผ่านการอบรม จป หัวหน้างาน และ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร ซึ่งทั้ง 2 ระดับถือเป็นบุคลากรที่สำคัญที่ทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยภายในสถานประกอบกิจการ ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานคือใคร
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานคือใคร
หัวหน้างานทุกคนในองค์กรตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากรหน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการพ.ศ. 2565 ได้กำหนดไว้ว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานคือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่งซึ่งหมายความว่าใครก็แล้วแต่ที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานแต่ไม่ใช่ว่ามีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานแล้วจะเป็น
จป.หัวหน้างาน โดยถูกต้องได้ทันที แต่จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
- เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
- มีคุณสมบัติในการเป็น จป.เทคนิค จป.เทคนิคขั้นสูง และ จป.วิชาชีพ
ซึ่งหากลูกจ้างระดับหัวหน้างานมีคุณสมบัติตามที่กำหนด นายจ้างต้องจัดทำเอกสารแต่งตั้งลูกจ้างดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานประจำสถานประกอบกิจการที่ลูกจ้างทำงานอยู่ ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าวต้องดำเนินการภายใน 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือนนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบตามจำนวนที่กำหนดนั่นเอง
แต่หากลูกจ้างระดับหัวหน้างานยังไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด นายจ้างสามารถส่งเข้ารับการฝึกอบรมได้ ภายใน 120 วันนับจากวันที่แต่งตั้งก็ได้ และเมื่อมีการแต่งตั้งแล้วนายจ้างต้องแจ้งชื่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ด้วย
สถานประกอบกิจการใดบ้างต้องมี จป.หัวหน้างาน
เมื่อเรารู้แล้วว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานคือใคร เรามาดูกันต่อว่าแล้วสถานประกอบกิจการใดบ้างที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ซึ่งมีการกำหนดไว้ในข้อ 7 ของกฎกฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ว่าสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวน 2 คนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้างจำนวน 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับหัวหน้างานที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวไปข้างต้นทุกคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ก่อนว่าสถานประกอบกิจการของเราจัดอยู่ในบัญชีใดตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากรหน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการพ.ศ. 2565 ซึ่งก็สามารถดูได้จากท้ายกฎกระทรวงฉบับดังกว่าว
สรุป
จป หัวหน้างาน คือ ลูกจ้างระดับหัวหน้างานที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด และ ได้รับการแต่งตั้งจากนายจ้างให้เป็น จป หัวหน้างาน เพื่อทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำงานโดย จป หัวหน้า งานถือเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำงานที่สำคัญมากเช่นกัน